ผมได้ข้อคิดจากที่ได้เจอหนังสือเล่มหนึ่งของอาจารย์หมอประเวศ เรื่องปฏิรูปการศึกษา ยกเครื่องทางปัญญา ทางรอดความหายนะ ที่เขียนไว้เมื่อปี 2540 เมื่อตอนที่เกิดวิกฤตเศรษฐกิจบ้านเรา และบอกว่าประเทศไทยต้องแก้ด้วยปัญญา ในคำที่เขียนไว้ว่า “สังคมไทยมีวัฒนธรรมอำนาจ จึงเน้นการศึกษาที่การสอบ และการหล่อหลอม ไม่เน้นที่การเรียนและความงอกงาม” ประโยคนี้ก็หมายความว่า การสอนในห้องเรียน คนที่อยู่ในสายงานวิจัยด้านการศึกษาเขาบอกว่าการที่เราเรียนอยู่ในห้องเรียนและฟังการสอน จะได้ความรู้แค่ประมาณ 10 – 15 เปอร์เซ็นต์เท่านั้นเอง แล้วก็เหมือนการหล่อหลอมเอาความคิดเห็นทั้งหมดมาเป็นความคิดเห็นเดียว เพราะตามที่ครูสอนว่าเป็นความคิดเห็นอย่างนี้ ทำให้คิดเหมือนกันหมด เขาบอกว่าให้เน้นที่การเรียน การเรียนคือ การเรียนรู้แล้วมันก็จะเกิดความงอกงาม ประโยคตรงนี้ถือว่าเป็นสิ่งที่น่าสนใจมากเลยนะครับ
อาจารย์หมอประเวศเองก็เห็นด้วยกับความคิดที่ว่า การเรียนการสอนจะต้องไม่ผูกติดอยู่ในห้องเรียนอย่างเดียว เห็นความสำคัญของคนที่มีประสบการณ์ในท้องถิ่นที่จะต้องมาเผยแพร่ประสบการณ์ของตัวเองให้กับคนในรุ่นๆ หลังต่อไปด้วย ซึ่งแนวความคิดของอาจารย์หมอประเวศจากที่ได้ผ่านมาแล้ว 10 ปี และผมก็ได้ถอดแนวคิดนี้ส่วนหนึ่งออกมาสร้างหลักสูตรเสริมสร้างสร้างสังคมสันติสุข ชองสถาบันพระปกเกล้า นี่แหละคือการตอบสนองการเรียนที่มุ่ให้เกิดปัญญามากกว่าความรู้ตามตำรา เพราะห้องเรียนของเราอยู่ในพื้นที่ ป่าเขา ลำเนาไพร และในชุมชนหมู่บ้าน นี่คือห้องเรียนเรา อาจารย์ก็เพียงแต่มาจุดประกายความรู้ให้เรา แล้วก็มาชี้นำนิดหน่อยว่า เออชุดความรู้ตรงนี้สามารถหาได้จากที่ไหนบ้าง มาให้แนวคิดแล้วเราก็ไปค้นคว้าหาเอง
อีกประโยคหนึ่งต่อเนื่องจากประโยคข้างต้น หากเราเน้นเรื่องการศึกษาที่การสอนและการหล่อหลอม ท่านบอกว่า “การหล่อหลอมที่ออกมาจากเบ้าหรือแม่พิมพ์ใช้กับผลิตวัตถุจากโรงงาน ซึ่งหล่อหลอมเหมือนกันทุกชิ้น แต่มนุษย์เป็นสิ่งที่มีชีวิตและมีจิตวิญญาณที่มีความหลากหลาย และมีศักยภาพที่จะงอกงามอย่างไม่มีที่สิ้นสุด เพราะฉะนั้นหากเราใช้พิมพ์เดียว แล้วออกมาเป็นของอย่างเดียว มันใช้ไม่ได้ จะไม่มีประโยชน์อะไรเลย หากมันเป็นของที่เหมือนกัน” ผมก็เคยได้พูดเสมอๆ ว่า “ความหลากหลายคือความสวยงาม ความเหมือนกันเป็นความตาย “ เป็นจุดจบในเรื่องการศึกษา จากที่หลายๆ คนคงเคยเห็นการเถียงกันในทีวีเกี่ยวกับเรื่องมาตรฐานการศึกษา เท่าที่ผมจำได้ที่มีอาจารย์ท่านหนึ่งท่านสอนโดยวิธีการปฏิบัติ ท่านเชื่อว่าการปฏิบัติดีกว่าการที่นั่งเรียนจากการฟัง แต่ทางผู้ที่กำกับการเรียนบอกว่าต้องเรียนในห้องเรียนนี่แหละต้องให้มากขึ้น อีกท่านก็โต้แย้งว่าต้องปฏิบัติมากกว่านั่งฟังในการเรียนถึงจะดีเด็กจะได้มีประสบการณ์เรียนรู้ นี่คือความเห็นที่แตกต่างกัน แล้วก็เถียงกันว่าต้องมีการผสมผสานกันเท่าไหน ทางฝ่ายดูแลก็บอกว่า ต้องเป็น 60:40 ทางครูผู้ปฏิบัติก็บอกว่า ไม่ได้หรอกต้องเป็น 63:37 ก็เถียงกันไปมา แล้วสิ่งที่เราเห็นเวลาประเมินคือ ประเมินจากกระดาษ กระดาษรายงาน แต่ไม่ได้ประเมินจากการดูการปฏิบัติจริง อย่างหลักสูตรของผม เวลาใครจะทำหน้าที่ประเมิน อาจารย์ที่เขารับจ้างทำประเมินในหลักสูตรของผม เขาต้องตามผมลงไปดูในพื้นที่ด้วย ให้เห็นว่าเวลาเรียนรู้ในพื้นที่ เรียนรู้ขนาดไหน นี่ก็เป็นสิ่งที่อยากจะให้แนวการศึกษาของเรารูปแบบใหม่เป็นลักษณะนี้
จากที่พูดข้างต้นก็นำไปสู่เรื่องที่เมื่อเราจะทำการปฏิรูปการศึกษาในภาคใต้ ผมคิดว่าเรื่องการศึกษาไทยเป็นพื้นฐานของด้านการเมือง เป็นพื้นฐานทางเศรษฐกิจและสังคมที่จะพัฒนาการและมีความก้าวหน้าไปได้อย่างไร อยู่ที่การศึกษานี่แหละ หากการศึกษาล้มเหลว สังคมเราล้มเหลว เศรษฐกิจเราก็จะเริ่มล้มเหลวไปด้วย บอกได้เลยว่าการศึกษาเราไม่ดี อย่างเช่นที่ผมได้อ่านหนังสือเล่มนี้ที่เขียนไว้เมื่อ 10 กว่าปี และเขียนไว้ดีมากและเขียนไว้ตั้งแต่ตอนวิกฤตเศรษฐกิจ แล้วผมก็ดูในรายละเอียด พอผ่านมาถึงวันนี้ ผมว่าทำไปได้สักประมาณ 10 เปอร์เซ็นต์จาก 100 เปอร์เซ็นต์
แนวทางของท่านอาจารย์หมอประเวศ เขียนไว้ว่า “ให้เตรียมคนไทยให้เผชิญกับยุคสมัยการเปลี่ยนแปลงได้และ การศึกษาต้องสอนสร้างรากฐาน” คือพูดง่ายๆ ว่าต้องยกเครื่องทางปัญญา ต้องเตรียมคนไทยให้เข้ากับยุคสมัยของการเปลี่ยนแปลงให้ได้ แล้วก็ถ้าเผื่อเราไม่เปลี่ยนแปลง สังคมไทยเราจะอ่อนแอลงไปเรื่อยๆ พออ่อนแอไปเรื่อยๆ ก็เกิดความขัดแย้ง พอขัดแย้งทำอะไร ทำลายตัวเอง ทำลายตัวเองแล้วก็เกิดวิกฤต ช่วงที่ผ่านมานี้ เราเป็นอย่างที่ว่านี้หมด ผมเรียกว่าสังคมแบบอัตตวิบากรรม แล้วตอนนี้เรากำลังทำลายตัวเองใช่ไหม ต้องตอบว่าใช่ เพราะฉะนั้นต้องหาปัญญามาเพื่อคลี่คลายตรงนี้
ในยุคของการเปลี่ยนแปลงในรอบ 10 ปีที่ผ่านมา ปี 40 – 50 เปลี่ยนอะไรไปมากจากหน้ามือเป็นหลังมือเลยด้วยซ้ำไป คนจะเริ่มทะเลาะเบาะแว้งกันมากขึ้น และยึดถือความคิดของตัวเองทั้งนั้นเลย ขณะที่เขารู้ว่าปัญหามันเยอะและสลับสับซ้อน แต่เขาก็ไม่รู้ว่าปัญหามันเกิดขึ้นมาจากอะไร นี่คือจุดอ่อนของเรา
สังคมหมู่บ้าน วันนี้หลายคนก็บอกว่า หมู่บ้านเดี๋ยวนี้ไม่ใช่หมู่บ้านแล้ว มันกลายเป็นสังคมใหญ่ไปแล้ว สังคมใหญ่วันนี้เชื่อมโยงกับสังคมโลกด้วย มีความสลับซับซ้อนทั้งเรื่องเศรษฐกิจ การเงิน ข้อมูลข่าวสาร วัฒนธรรม การเมืองก็สลับซับซ้อน ในความที่มันสลับซับซ้อน มีความเปลี่ยนแปลงที่รวดเร็วในรอบ 10 ปีที่ผ่านมา จนเราไม่อาจจะพยากรณ์อะไรได้อย่างถูกต้องร้อยเปอร์เซ็นต์ว่าอะไรจะเกิดขึ้นในอนาคต เราจะต้องเผชิญกับสถานการณ์และปัญหาใหม่ๆ และต้องยอมรับว่า 4 – 5 ปีที่ผ่านมานี้เราเจอปัญหาใหม่ๆ อย่างที่ไม่เคยเจอมาก่อนเลย จึงต้องบอกว่าทัศนะ จิตสำนึก หรือทักษะเก่าๆ ที่เราเคยมีอยู่กับตัวเรานั้นไม่สามารถสร้างสังคมให้เกิดความสมดุลได้อีกต่อไปแล้ว เพราะฉะนั้นสิ่งที่จะแตกสลายคือ สภาพแวดล้อมทรัพยากรธรรมชาติ จะมีการทำลาย บุกรุกป่ากันมากขึ้น ประการที่สองชีวิตและครอบครัวก็จะแตกสลาย วันนี้พ่อไปทาง แม่ไปทาง ลูกไปทาง สิ่ที่จะแตกสลายประการที่สามคือชีวิตชุมชน ชีวิตที่เคยอยู่ร่วมกัน ลงขันทำงานร่วมกันในเรื่องต่างๆ วันนี้จะไม่มีพื้นที่แบบนี้อีกแล้ว จะเป็นวิถีแบบตัวใครตัวมัน และสุดท้ายรากฐานหรือรากเหง้าของชีวิตที่ดี ชีวิตที่แข็งแกร่งของเราคือ วัฒนธรรมไทย ก็พังสลายไปด้วย นี่ก็จะได้เห็นว่าสิ่งที่เป็นปัญหาต่างๆ จะตามมาต่อจากสิ่งที่พังสลายต่างๆ ของประเทศ
สำหรับทางออกสำหรับปัญหาต่างๆ ที่กำลังมาเหล่านี้ ผมคิดว่า เราต้องเริ่มให้มีการกระจายอำนาจ จะใช้แต่อำนาจต่อไปอีกไม่ได้แล้ว ต้องเปลี่ยนอำนาจจากการที่รวมศูนย์ รวมศูนย์แล้วทำให้เกิดการขาดประสิทธิภาพและเกิดการคอรัปชั่นได้ง่ายไม่เป็นประชาธิปไตย วันนี้ดูเหมือนว่าได้กระจายไปยังส่วนต่างๆ แต่ทว่ามันกลับถูกควบคุมด้วยส่วนกลางทั้งหมด ที่ยังไม่กระจายอำนาจอย่างแท้จริง การกล่าวอ้างว่าหน่วยงานการปกครองท้องถิ่น นายก อบต. หรือ อบจ. ว่าเขาไม่มีความรู้อันนี้คิดอย่างนั้นไม่ได้ เพราะผมลงพื้นที่ไปฟังการบรรยายสรุปของหน่วยงานปกครองท้องถิ่นแล้วผมว่าเขาสุดยอด บรรยายอะไรต่างๆ ได้เป็นฉากๆ บางครั้งดีกว่ารัฐมนตรีบางท่านด้วยซ้ำไป และอีกเรื่องหนึ่งคือ โครงสร้างทางสังคมของเรา เป็นสังคมแบบมีสังคมที่เป็นเชิงสัมพันธ์กันในระดับส่วนบนกับส่วนล่าง ส่วนล่างคือท้องถิ่นต่างๆ ส่วนบนคือส่วนที่อยู่ระดับกลาง ส่วนบนจะมีอำนาจแล้วก็จะสั่งให้ส่วนล่างทำ อย่างนี้มันไม่ได้ ต้องมีการกระจายอำนาจ ไม่เช่นนั้นยิ่งสั่งเขา เขาก็ยิ่งจะอ่อนแอ แล้วก็จะทรุดโทรมลงไปเรื่อยๆ เพราะฉะนั้นต้องพยายามลดอำนาจส่วนบน และสร้างอำนาจส่วนล่าง ไม่ต้องถึงเท่ากันแต่ว่าให้ใกล้เข้ามาอีกนิดหนึ่งได้ไหม
นอกจากนี้ เรื่องความเคยชินจากสภาพแวดล้อมในอดีต แต่ก่อนเรามีทิศทางการพัฒนาที่เราทำไปตามสิ่งที่เราอยากจะทำ อยากจะเป็น แล้วสุดท้ายเราก็ไปรับเอาเรื่องวัตถุนิยมเข้ามาเป็นทิศทางในการพัฒนาประเทศ พอวัตถุนิยมเข้ามาทำให้เราหลงทิศ ทำให้เราเกิดโลภะ โมหะ และโทสะ เอา 3 ส่วนนี้เข้ามาเลย เขาเรียกว่า อกุศลมูล เข้ามาทำให้เกิดความโกลาหล ทำให้ไม่เกิดปัญญา
ไทยเราอยู่ในเขตร้อน ทรัพยากรมีมาก แล้วคนเราน้อย ภัยธรรมชาติแต่ก่อนก็น้อย ทำให้เราประมาทแล้วเราก็ไม่กระตือรือร้นในการที่จะทำอะไรต่าง แล้วก็ไม่สนใจเรื่องการเรียนรู้ในการที่จะสร้างสรรค์ให้เกิดสิ่งใหม่ๆ เข้ามา ตอนนี้ต้องเปลี่ยนแล้วเราจะมองอะไรอย่างใกล้ๆ แคบๆ หรือพูดง่ายๆ ว่าเห็นแก่ตัวนั้น คงจะยากแล้วละ เราต้องลดลงไปให้มากที่สุดเท่าที่จะมากได้ อย่าเห็นแก่ตัว อย่าเห็นแก่พรรคพวก อย่าขาดจิตสำนึกทางสาธารณะ 4 อย่างนี้สำคัญ หากทำแล้วมันจะทำให้โกงยาก ไม่อยากโกง แล้วก็เกิดความรับผิดชอบ และไม่ได้ทำตัวรอดไปวันๆ แก้ปัญหาไปวันๆ แต่ต้องทำอะไรแบบที่ยั่งยืน เพราะฉะนั้นเราจะทำอย่างไรที่จะปรับเรื่องการศึกษา เรื่องการเรียนรู้ ที่ผมพูดตรงนี้ทั้งหมดเป็นเรื่องการเรียนรู้ที่จะทำให้เกิดการเมือง เศรษฐกิจที่สามารถหลีกเลี่ยงวิกฤตได้
ทั้งหมดที่ผมพูดตรงนี้เพราะว่า สหรัฐอเมริกาวิกฤตแล้ว ยุโรปกำลังวิกฤตแล้วไล่ล้มกันเป็นระนาดแล้ว แล้วถ้าเราไม่เตรียมความพร้อม ไม่เตรียมปัญญาความรู้ คือไม่ลับขวานให้คมอยู่เสมอ เมื่อถึงเวลาที่ต้องใช้ขวานแล้วมันอาจจะแก้ได้ไม่ทัน
อีกประเด็นหนึ่ง ผมไม่มั่นใจว่าเดี๋ยวนี้ลูกๆ หลานๆ ของเรายังอยากไปโรงเรียนอยู่ไหม ยังสนุกกับการไปเรียนอยู่ไหม เขาบอกว่าถ้าโรงเรียนไหนที่ทำให้คนเข้ามาโรงเรียนแล้วสนุก ทำให้ดูว่าเรียนไม่ยาก ไม่น่าเบื่อ ชวนให้เกิดการเรียนรู้ ใครที่ทำบรรยากาศการเรียนให้ได้อย่างนี้ โรงเรียนนั้นจะเจริญก้าวหน้ามาก เด็กๆ เขาจะเกิดสติปัญญามาก ในหลักสูตรของผมก็พยายามที่จะทำให้เกิดเช่นนี้ มีการจุดประกายให้เขาได้เกิดการโต้แย้ง ให้เกิดการแลกเปลี่ยนเรียนรู้
ทำอย่างไรจะให้มีโรงเรียนดีๆ มากพอ เพื่อที่จะทำให้ผู้ปกครองไม่ต้องเดือดร้อน สามารถที่จะส่งลูกไปเข้าโรงเรียนที่ใกล้บ้านได้ ผมว่าเรื่องนี้คงเป็นเรื่องที่ไม่ยาก เพราะว่าระบบไอทีเราก้าวหน้ามาก เดี๋ยวนี้เขามี E-Learning คือ ระบบการเรียนการสอนผ่านไอที เพราะฉะนั้นสามารถถ่ายทอดห้องเรียนที่มีการสอนที่ดีๆ ในกรุงเทพฯ ให้ถ่ายทอดไปโรงเรียนในต่างจังหวัด ผมได้ยินว่ารัฐบาลนี้กำลังจะทำ หากทำได้จะทำให้เกิดสติปัญญาที่ดีแก่ชุมชนมากมาย ให้มีการเรียนรู้ได้อย่างเท่าเทียมกัน โดยโรงเรียนหรือมหาวิทยาลัยดีๆ ก็ต้องเปิดใจที่จะเผยแพร่สิ่งที่เราสอนให้เด็กต่างจังหวัดได้รับรู้และเรียนด้วย เราจะทำให้ประเทศชาติและลดความเห็นแก่ตัว ให้มีจิตสาธารณะได้มากน้อยแค่ไหน ให้ทุกๆ คนลองทำดูโดยใช้วิถีการให้จะได้ผล
กระบวนการเรียนรู้จะต้องเปิดให้คนในโรงเรียนได้แลกเปลี่ยนเรียนรู้มากกว่าที่จะนั่งรับฟัง ตอนนี้เรามีครูที่มีคุณภาพดีที่ยังไม่มากพอ ยกตัวอย่างตัวผมเอง ผมมีลูกผมมีลูกน้องเป็นครูผมด้วยซ้ำในบางเวลา อย่างเช่นเรื่องไอที ผมติดอะไร ผมจะต้องถามลูกผม ถามตั้งแต่เขายังเด็กๆเลย เพราะว่าเด็กเขาเรียนรู้เร็วกว่าเรา เรานี่เรียนรู้ช้ากว่าเด็กต้องเรียนรู้ตรงนี้ บางทีบางคนก็เอามาพูดว่า เด็กอายุเท่านี้ไม่สามารถใช้คอมพิวเตอร์ได้ ไม่ใช่เลย เด็กสมัยนี้เก่งมากเขาสามารถกดคอมพิวเตอร์ได้เร็วมากเลย ผมใช้วิธีแบบนี้ตั้งแต่ผมเป็นทหาร ผมถามลูกน้องผมที่เป็นทหารและนายสิบ ผมมักจะถามเขาเสมอในเรื่องที่ผมไม่รู้ แต่เขารู้ เพราะฉะนั้นผมต้องเปิดใจว่าความรู้ไม่ใช่เรารู้ทั้งหมด บางครั้งเราต้องยอมที่จะเปิดใจไปรับรู้สิ่งที่เรายังไม่รู้ ถึงแม้ว่าเขาจะมีฐานะหรือตำแหน่งอะไรน้อยกว่าเรา แต่เขาอาจจะรู้เรื่องนั้นมากกว่าเราก็ได้ คือการแลกเปลี่ยนเรียนรู้เป็นเรื่องที่ดีมาก
นอกจากนี้ สิ่งที่เราได้เรียนรู้มาจากทางครอบครัวก็เยอะ แต่ว่าความที่เราครอบครัวมันแตกสลาย แยกกันอยู่ กระบวนการเรียนรู้ตรงนี้เลยไม่ค่อยเกิด แทนที่เราจะได้คุย เดี๋ยวนี้เราเรียนรู้กันผ่านโทรศัพท์กัน อ้าวลูกอยู่ไหน จะกลับบ้านรึยัง กี่โมงจะกลับบ้าน หนักๆ เข้าก็ใช้วิธีส่งข้อความคุยกับพ่อแม่
อีกกลุ่มหนึ่งที่ดูเหมือนเขาไม่ใช่ครูที่จะสอน เช่น ชุมชนหรือภูมิปัญญาท้องถิ่น ยกตัวอย่าง พ่อผาย ที่อยู่ที่บุรีรัมย์ ซึ่งเป็นครูชั้นดีจากภูมิปัญญาท้องถิ่นเลย เรียนรู้มาจากการปฏิบัติจริงๆ และรู้ว่าอะไรถูกอะไรผิด ในโรงเรียนบางโรงเรียนก็ยังอยากที่จะอยู่กับเขตพื้นที่การศึกษา ยังไม่อยากให้นายก อบต. อบจ. มากำกับควบคุม ก็มีเช่นนี้เยอะ ก็ทำให้การกระจายอำนาจจริงๆ เกิดยาก กฎหมายก็เขียนมาดี แต่การปฏิบัติยังไม่สามารถทำได้อย่างแท้จริง พูดง่ายๆ ว่าใจยังไม่ค่อยเปิดใจ คงต้องใช้เวลาพอสมควร
ด้านองค์กรทางศาสนาก็เป็นเหมือนกับแหล่งเรียนรู้ ผมว่าจริงๆแล้ว ในบริเวณมัสยิดหรือในวัด ในโบสถ์ก็เป็นแหล่งเรียนรู้ เราไปพบปะพูดคุยก็ทำให้ได้เกิดสติปัญญาเหมือนกัน
องค์กรพัฒนาเอกชนก็เป็นส่วนหนึ่งที่เป็นเหมือนที่ปรึกษาให้แก่ชุมชนต่างๆ แต่ก็ต้องให้คำแนะนำอย่างสร้างสรรค์ อย่าไปยุยงในสิ่งที่ไม่ดี หากทำให้บ้านเมืองสงบสุขและทำให้ท้องถิ่นเจริญก้าวหน้าก็เรียกร้องได้เต็มที่
กองทัพก็ยังเป็นแหล่งเรียนรู้ บางคนก็ส่งลูกมาเป็นทหารเพื่อมาดัดสันดาน แต่จริงๆ แล้วเขาต้องการให้ลูกมีวินัย มีความรับผิดชอบ มีการตรงต่อเวลา ก็ส่งลูกมาให้ทหารช่วยดูแล บางทีทหารก็ช่วยได้ส่วนหนึ่ง สำหรับคนที่ติดยาเสพติด ทหารเขาก็มีโรงเรียนวิวัฒน์พลเมือง ก็เอาคนๆนั้นเข้ามาฟื้นฟูมีการฝึก ช่วยทำห้ลืมแล้วก็เลิกไป แล้วก็หาอาชีพใหม่ให้เขาทำ แต่ก็อยากจะฝากว่า น่าจะมีการติดตามประเมินผลผู้ที่อบรมแล้ว กลับมาติดยาอีกหรือเปล่า หรือว่าหายขาดแล้วกี่เปอร์เซ็นต์
อีกแหล่งหนึ่งคือ โรงงานอุตสาหกรรม หรือบริษัทห้างร้านต่างๆ ก็ถือว่าเป็นหน่วยการเรียน เช่น ผมเคยเขียนยุทธศาสตร์ให้กับนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย เช่น ในการศึกษาปีที่ 4 ของปริญญาตรีของมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลต่างๆ ให้เข้าไปอยู่ในโรงงาน เขาเรียนเรื่องเครื่องยนต์ ก็ให้ไปอยู่ในโรงงานที่ต้องเกี่ยวข้องกับเครื่องยนต์ ให้อยู่ที่นั้น 1 ปี แล้วพอจบ 1 ปีก็ทำรายงานสรุปออกมา แล้วก็ขอจบได้ หากเราทำอย่างนี้ได้ เราจะเก่งทั้งเรื่องทฤษฎีและปฏิบัติไปในตัวด้วย หากเกิดอย่างนี้ได้จริงก็จะทำให้คนจบมาแล้วมีงานทำ ไม่ใช่จบแล้วพอทำงานก็จะต้องมาฝึกงานอีก 6 เดือนหรืออีก 1 ปี ถึงจะทำงานได้ แต่หากทำเช่นนี้จบมาแล้วก็ทำงานได้เลย
|