จีนศึกษา (วันอังคารที่ ๒๑ พ.ย.๖๐) ขอนำเสนอข้อมูลการวิเคราะห์เกี่ยวกับทิศทางความเคลื่อนไหวของจีน อันสืบเนื่องมาจากการประชุมสมัชชาใหญ่พรรคคอมมิวนิสต์จีน ครั้งที่ ๑๙ (สมัชชาฯ ๑๙) ระหว่างวันที่ ๑๘ – ๒๔ ต.ค.๖๐ (ตอนที่ ๒) ซึ่งมีประเด็นที่น่าสนใจดังนี้
๑. สำนักข่าวซินหวา ได้เคยรายงานข่าวในช่วงเดือน ต.ค.๖๐ ระบุว่า ประธานาธิบดี สี จิ้นผิง เป็นยอดนักปฏิรูป ซึ่งเริ่มเข้าสู่เวทีการเมืองเมื่อ ๔๔ ปีที่แล้ว ในช่วง ๕ ปีที่ผ่านมา ได้ผลักดันมาตรการปฏิรูป มากกว่า ๑,๕๐๐ มาตรการ เดินสายตรวจการตามพื้นที่ต่างๆ ๕๐ แห่งทั่วประเทศในช่วงเวลา ๑๕๑ วัน และที่ประชุมสมัชชาใหญ่พรรคคอมมิวนิสต์จีนครั้งที่ ๑๙ ได้มีมติเป็นเอกฉันท์ให้บรรจุ 'ความคิดของสี จิ้นผิง ว่าด้วยสังคมนิยมแบบจีนสำหรับยุคใหม่' ลงในธรรมนูญฉบับใหม่ของพรรคฯ ทำให้ความคิดของประธานาธิบดี สี จิ้นผิง มีความสำคัญเทียบเท่าแนวความคิดของประธาน เหมา เจ๋อตง ผู้ก่อตั้งสาธารณรัฐประชาชนจีน
๒. มีผู้เชี่ยวชาญหลายคน รวมถึง หลี่ เฉิง (李成) นักวิเคราะห์การเมืองชาวอเมริกันเชื้อสายจีน ผู้เชี่ยวชาญด้านบริหารรัฐกิจจีนและยังเป็นผู้อำนวยการของศูนย์จีน จอห์น แอล. ธอร์นตัน (John L. Thornton China Center) สถาบันบรูกกิ้งส์ (Brookings Institution) ซึ่งมีความชำนาญเป็นพิเศษในเรื่องเกี่ยวกับคณะผู้นำของจีน ที่มีชื่อเสียงระดับแนวหน้า ได้วิเคราะห์และแสดงความเห็นในประเด็นต่างๆ กล่าวคือ
๒.๑ ทิศทางความเป็นไปของโลกที่ผูกโยงกับประเทศจีนอยู่ในเวลานี้ว่า ประธานาธิบดี สี จิ้นผิง มีความพยายามในการปฏิรูปทั้งทางเศรษฐกิจ, การเมือง, วัฒนธรรม, การทหาร ฯลฯ ดังที่ได้ประกาศว่า จีนกำลังมาถึง “ยุคใหม่แห่งการพัฒนา” ตามรายงานในการเปิดการประชุมสมัชชาฯ ๑๙ เมื่อวันพุธที่ ๑๘ ต.ค.๖๐
๒.๒ อนาคตของประธานาธิบดี สี จิ้นผิง และอนาคตของผู้นำจีนคนใหม่ ซึ่งคาดว่า จะเป็น นาย หู ชุนหวา (胡春华) อายุ ๕๔ ปี ซึ่งเป็นหนึ่งในผู้ที่น่าจะมีโอกาสสูงมากในการเป็นทายาทการเมืองของประธานาธิบดี สี จิ้นผิง โดยในการประชุมใหญ่ครั้งนี้ เห็นชัดว่า ประธานาธิบดี สี จิ้นผิง สามารถคุมอำนาจบารมีได้อย่างเบ็ดเสร็จ โดยทำให้มีแต่กรรมการอายุรุ่นราวคราวเดียวกัน และคนรุ่นถัดไปยังไม่มีพื้นที่เข้ามาอยู่ในคณะกรรมการฯ อันเป็นการชะลอกระบวนการเลือกผู้นำคนใหม่ออกไปอีก ๑๐ ปี (หมายถึง ประธานาธิบดี สี จิ้นผิง จะอยู่ในอำนาจต่อไปอีก ๑๐ ปี รวมเวลาที่ครองอำนาจมาก่อนหน้านี้ ๕ ปี รวมเป็นเวลาที่อยู่ในอำนาจ ๑๕ ปี) แม้ว่า ประธานาธิบดี สี จิ้นผิง จะไม่ประกาศให้ นาย หู ชุนหวาเป็นทายาทของเขาในสมัชชาครั้งนี้ แต่โอกาสของนาย หู ชุนหวา ยังมีอยู่ไม่น้อยกว่าใครอื่น โดย นาย หู ชุนหวา เลขาธิการพรรคสาขามณฑลกว่างตง เป็นกลุ่มสมาชิกกรมการเมือง ๓ คน ที่ได้รับเลือกเป็นสมัยที่สอง (อีกสองคนคือ ซุน ชุนหลัน อายุ ๖๗ ปี หัวหน้าฝ่ายการแนวร่วมกลางพรรคฯ และ พลอากาศเอกสีว์ ฉีเลี่ยง อายุ ๖๗ ปี รองประธานคณะกรรมาธิการทหารกลางแห่งพรรคฯ) จึงทำให้นาย หู ชุนหวา มีโอกาสที่จะเป็นทายาทผู้ที่จะสืบทอดตำแหน่งนำประเทศจีนสู่ความรุ่งโรจน์ในอนาคตต่อจากประธานาธิบดี สี จิ้นผิง มากที่สุด
๓. ประเด็นสำคัญตามรายงานของประธานาธิบดี สี จิ้นผิง
๓.๑ ประเด็นที่กล่าวถึงการ “บรรลุผล ๔ ยิ่งใหญ่” ได้แก่ การต่อสู้อุปสรรค, โครงการยิ่งใหญ่, ปัจจัยที่ยิ่งใหญ่ และความฝันที่ยิ่งใหญ่ (great struggle, great project, great cause and great dream) โดยเฉพาะการรณรงค์ต่อต้านการทุจริตคอร์รัปชั่น กวาดล้างสมาชิกพรรคระดับคณะกรรมการกลางพรรคไปจำนวนถึงร้อยละ ๑๐ ตลอด ๕ ปีที่ผ่านมา ซึ่งอาจกล่าวได้ว่าคือหัวใจสำคัญที่ดำรงความศรัทธาเชื่อมั่นของพรรคคอมมิวนิสต์ไว้ได้อย่างมีเสถียรภาพ โดย ประธานาธิบดี สี จิ้นผิง กล่าวว่า การทุจริตคอร์รัปชั่นเป็นสิ่งที่ประชาชนจีนเกลียดชังมากที่สุด และเป็นประเด็นความสนใจใหญ่สุดของประชาชนตลอดเวลากว่า ๘ ปีที่ผ่านมา แต่ปัจจุบัน โดยเฉพาะ ๒ – ๓ ปีมานี้ ประชาชนมั่นใจ ไว้ใจ ไม่กังวลเรื่องนี้แล้ว สามารถพัฒนาชีวิต ก้าวไปสู่เรื่องสาธารณสุข, สิ่งแวดล้อม ฯลฯ
๓.๒ ประเด็นที่เกี่ยวข้องกับยุคใหม่ของประธานาธิบดี สี จิ้นผิง ในฐานะประธานกรรมาธิการทหารกลาง ยังสามารถนำการปฏิรูปการทหารของจีน ไม่ว่าจะเป็นการลดทอนความสำคัญของ ๔ กรมใหญ่ของกองทัพ ได้แก่ กรมการเมืองใหญ่, กรมเสนาธิการใหญ่, กรมส่งกำลังบำรุงใหญ่ และกรมสรรพาวุธใหญ่ ซึ่งคานอำนาจกับคณะกรรมการการทหารส่วนกลาง (Central Military Commission หรือ CMC) โดยปรับ ๔ กรมใหญ่ดังกล่าว ให้กลายเป็น ๑๕ กรมในส่วนกลาง อันทำให้ ประธานาธิบดี สี จิ้นผิง มีอำนาจควบคุมโดยตรง โดยปรับเปลี่ยนโครงสร้างทางการทหารของจีน จากที่เคยเดินตามรัสเซีย และเปลี่ยนยุทโธบายที่เคยใช้ปริมาณกองกำลังภาคพื้นดินมหาศาล ไปสู่เป็นการปฏิบัติการร่วมกันอย่างมีเอกภาพของทุกเหล่าทัพ อีกทั้ง ยังมีอำนาจในการเลือกเลื่อนชั้นผู้ที่จะดำรงตำแหน่งสำคัญของเหล่านายทหารรุ่นใหม่
๓.๓ ประเด็นความสำเร็จในแผนปฏิรูปเศรษฐกิจการตลาด ได้ก่อให้เกิดผลวงกว้างในการกระจายการบริโภค ภาคบริการ และนวัตกรรมเพิ่มขึ้นในทุกด้าน ที่สำคัญคือผลงานนโยบายการต่างประเทศ ที่ผ่านโครงการริเริ่ม “หนึ่งแถบ หนึ่งเส้นทาง” (One Belt, One Road หรือ Belt and Road Initiative) โดยลดความขัดแย้งระดับภูมิภาค และเสริมความสัมพันธ์ทวิภาคี แม้กระทั่งกับประเทศสหรัฐอเมริกาภายใต้การบริหารของโดนัล ทรัมป์ ผู้ประกาศจุดยืนว่า 'อเมริกาต้องมาก่อน' (America First) ซึ่งในช่วงเวลายุคของ ผู้นำเติ้ง เสี่ยวผิง นั้น ประชาชนอยู่กับการทำมาหากิน ตามวิถีการผลิตอุตสาหกรรมโรงงาน แต่เวลานี้จีนกำลังก้าวข้ามยุคเก่า เข้าสู่ยุคนวัตกรรมและสร้างรูปแบบทางธุรกิจเทียบชั้นแนวหน้าของโลกและมีศักยภาพพอที่จะแซงหน้าเป็นผู้นำวงการโลกด้วย นี่คือ 'ยุคใหม่' ในความหมายของประธานาธิบดี สี จิ้นผิง ที่กล่าวถึง “ความไม่สมดุล” (unbalanced) และ “ความไม่เหมาะสม” (inadequate) ที่ยังเป็นคำปริศนาธรรมในความใคร่ครวญของประธานาธิบดี สี จิ้นผิง ซึ่งอาจหมายรวมถึงความไม่สมดุลระหว่างภูมิภาคต่างๆ ของจีน ระหว่างภูมิภาคฝั่งตะวันตกกับภูมิภาคที่เป็นพื้นที่ชายฝั่งตะวันออก ระหว่างตัวเมืองกับเขตชนบท ระหว่างกลุ่มทางสังคมเศรษฐกิจหรือกลุ่มผลประโยชน์ ตลอดจนความไม่สมดุลของการพัฒนาทางเศรษฐกิจกับสังคม อันเป็นพื้นที่แห่งโอกาสในการเปลี่ยนแปลงไปสู่ความสมดุลเหมาะสมอีกมาก
๓.๔ ประเด็นแนวความคิดด้านธรรมาภิบาลของประธานาธิบดี สี จิ้นผิง ยังสะท้อนอยู่ในการจัดตั้ง “คณะกรรมการกำกับตรวจสอบแห่งชาติ” (National Supervision Commission) ทั้งในระดับรัฐและในระดับพรรค รวมทั้งการจัดตั้ง “คณะกรรมการเสถียรภาพทางการเงินแห่งชาติ” (National Financial Stability Commission) เป็นสิ่งที่น่าติดตามต่อไป เช่นเดียวกับการแก้ไขธรรมนูญของพรรคฯ เพื่อการเหล่านี้
บทสรุป แม้ว่า ประธานาธิบดี สี จิ้นผิง ในฐานะเลขาธิการใหญ่พรรคอมมิวนิสต์จีน และประธานกรรมาธิการทหารกลาง จะทำให้สามารถรักษาอำนาจบารมีและสถานะที่มีความมั่นคงมากก็ตาม แต่เชื่อว่า ประธานาธิบดี สี จิ้นผิง คงไม่ประมาท จนลืมความสำคัญของการทำงานเป็นหมู่คณะฯ แม้ว่าจะมีอำนาจมากเพียงใดก็ตาม
ประมวลโดย : พันเอก ไชยสิทธิ์ ตันตยกุล
( ข้อมูลจากเว็บไซต์ https://mgronline.com/china/detail/9600000110642 และเว็บไซต์ https://mgronline.com/china/detail/9600000110877 )
|